การยางแห่งประเทศไทย ใช้ Business model 3 ขา เร่งแก้ปัญหาราคา ยางพารา
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายเฉลมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ มีนโยบายให้ทุกหน่วยเร่งแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ทางการยางก็ไม่นิ่งนอนใจ โดยจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ใช้รูปแบบ บิสเนสโมเดล Business model หรือโมเดล 3 ขา เป็นการดำเนินการระหว่าง กยท. ผู้ประกอบการโรงงาน และเกษตรกร ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางพาราและเสริมสร้างความแข็งแรงให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมากขึ้น โดย กยท.จะทำหน้าที่อุดหนุนสินเชื่อ ส่วนเกษตรกรมีหน้าที่ ส่งวัตถุดิบ เพื่อให้โรงงาน ใช้สมรรถภาพกำลัง ในการผลิตเต็มที่
ความคิดโมเดล 3 ขา เกิดขึ้นจาก การที่ กยท. เห็นว่า มี สถานประกอบการโรงงานหลายแห่ง ที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับยางพารา ทำได้ไม่เต็มสมรรถภาพ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและเงินทุน ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย จะขอเป็นตัวกลางประสานให้เกิดความร่วมมือขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรมีวัตถุดิบ ผู้ประกอบการมีโรงงาน และการยางแห่งประเทศไทยมีเงินทุน สามารถเข้าไปช่วยในเรื่องสภาพคล่องได้
” ธุรกิจโมเดล 3 ขา จะเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผมหวังว่า โครงการนี้ จะทำให้เกษตรกร มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ แทนที่จะต่างคนต่างทำ ก็มาช่วยกัน ทำให้ต้นทุนลดลง ชาวบ้านก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้นจากบิสเนสโมเดล นี้ ทำให้ทุกคนอยู่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยกันทำจะเกิดความเสียหายทั้งระบบ เกษตรกรและโรงงานก็จะไม่รอดพ้นวิกฤติไปได้” นายณกรณ์กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เริ่มพูดคุยและเดินหน้าไปบ้างแล้ว โดยวางแผนจะทยอยเริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ เช่น ยางก้อนถ้วย จะทำมากที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง 99% ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนภาคใต้ จะเน้นเรื่องน้ำยาง ตนอาจจะดูบริบทของแต่ละพื้นที่ก่อนว่า เขาต้องการอะไร ถนัดด้านไหน ค่อยเอาธุรกิจไปใส่ให้ นโยบายนี้เป็นแผนของปี 64 ที่เราจะทำร่วมกัน ตนเชื่อว่าถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ในเรื่องของการแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การนำไปใช้ จะเป็นการบริหารที่สมดุลทำให้รัฐแก้ปัญหาราคายางได้อย่างยั่งยืนขึ้น
“ ผมชอบการฉีดวัคซีนให้เขาแข็งแรง มากกว่าการไปให้ยาตอนเขาป่วย ผมรู้ว่า อีกหน่อยจะเกิดเรื่องนี้ เราก็เข้าไปจัดการ ไม่ใช่พอเกิดปัญหาแล้วเรามานั่งประกันรายได้ และชดเชย ผมว่ามันต้องเปลี่ยน เราต้องทำล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยมาตามแก้กันที่หลัง เราต้องมองไปล่วงหน้า ทั้ง ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 “ นาย ณกรณ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ยางพาราในปีนี้ ค่อยข้างดี และมีแนวโน้มจะแตะ ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ยางล้อ ก็มีความต้องการยางแผ่นมากขึ้น นอกจากนี้จากปัญหาโควิด 19 ของปีที่แล้วทำให้เราต้องใช้ยางเก่าในสต๊อกจนยางเหลือใช้แค่ 1 เดือน ทั้งที่เราจะต้องสต๊อกยางเผื่อไว้ใช้อย่างน้อย 2 เดือน ดังนั้นปีนี้จะต้องเริ่มสต็อกยาง ไม่อย่างนั้นปีนี้จะมีความเสี่ยง เพราะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นถุงมือยาง ก็ยังมีความต้องการสูง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก คมชัดลึก